วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

Play & Learn เพลินๆกับมิวเซียมสยาม



ปรัชญาของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)



                มิวเซียมสยามมีจุดมุ่งหมายในการปฏิรูป พิพิธภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด จึงนำเสนอด้วยรูปแบบที่สร้างสรรค์และสนุกสนานโดยใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ฉะนั้น ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ เพื่อสื่อความหมายในการเล่าเรื่องและเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์


แนวคิดในการจัดการศึกษา

                มิวเซียมสยามนั้นจะเน้นการจัดนิทรรศการที่จะกระตุกต่อมความคิด และจุดประกายความอยากรู้ เกิดการตั้งคำถาม ให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็น แล้วไปสืบค้นหาความรู้ด้วยตนเองต่อไป  และเน้นปฏิสัมพันธ์ ระหว่างนิทรรศการและผู้ชม เพื่อให้เกิดการสื่อสารความรู้ และการสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้ชม คือจะสามารถจับต้องได้ และเล่นได้     และยังได้ใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง โดยใช้ตัวละครพูดถึงเนื้อหานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของผู้คนและดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทยเพื่อให้ผู้คนได้ค้นหาคำตอบว่า"ความเป็นไทยหมายถึงอะไร"

 การจัดการเรียนรู้
 
การจัดการเรียนรู้ของมิวเซียมสยามนั้น จะประกอบด้วย 3 อาคารหลัก คือ
1.              อาคารนิทรรศการถาวร หรืออาคารพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ภายในอาคารนี้จะจัดแสดงนิทรรศการเรื่อง "เรียงความประเทศไทย" เป็นการบอกเล่าถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  นับตั้งแต่สมัยแผ่นดิน สุวรรณภูมิ” (3,000 ปีก่อน) อันประกอบด้วยอารยธรรมต่างๆ ก่อนการรับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีน เรื่อยมาจนถึงกำเนิดสยามประเทศและก้าวสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 
                ช่วงที่ 1 “สุวรรณภูมิ
 
                นำเสนอเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิและประเทศไทยในปัจจุบัน ย้อนกลับไปราว 3,000 ปีก่อนการรับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูเข้ามา จนกระทั่งกลายเป็นศาสนาหลักจนถึงปัจจุบัน
 
                ช่วงที่ 2 “สยามประเทศไทย
 
                นำเสนอเรื่องราวการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นอาณาจักรใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในการกำเนิดขึ้นของ สยามประเทศไทย
 

                ช่วงที่ 3 “ประเทศไทย
 
                นำเสนอพัฒนาการของดินแดน ผู้คน และสังคมจากแบบจารีตมาสู่สังคมสมัยใหม่ในปัจจุบัน
 

                ทั้ง 3 ช่วงดังกล่าว นำเสนอโดยอธิบายลึกลงไปถึงรายละเอียด ผ่านห้องนิทรรศการจำนวน 17 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องมีรายละเอียดสังเขปดังต่อไปนี้

 
ห้องที่ 1 เบิกโรง (ชั้น 1)
ห้องที่ 2 ไทยแท้ (ชั้น 1)
ห้องที่ 3 เปิดตำนานสุวรรณภูมิ (ชั้น 3)
ห้องที่ 4 สุวรรณภูมิ (ชั้น 3)
ห้องที่ 5 พุทธิปัญญา (ชั้น 3)
ห้องที่ 6 กำเนิดสยามประเทศ (ชั้น 3)
ห้องที่ 7 สยามประเทศ (ชั้น 3)
ห้องที่ 8 สยามยุทธ์ (ชั้น 3)
ห้องที่ 9 แผนที่ ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ (ชั้น 2)
ห้องที่ 10 กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา (ชั้น 2)
ห้องที่ 11 ชีวิตนอกกรุงเทพ (ชั้น 2)
ห้องที่ 12 แปลงโฉมสยามประเทศ (ชั้น 2)
ห้องที่ 13 กำเนิดประเทศไทย (ชั้น 2)
ห้องที่ 14 สีสันตะวันตก (ชั้น 2)
ห้องที่ 15 เมืองไทยวันนี้ (ชั้น 2)
ห้องที่ 16 มองไปข้างหน้า (ชั้น 2)
ห้องที่ 17 ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่มาของมิวเซียมสยาม (ชั้น 1)

2.              อาคารนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ จะเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนหัวข้อการจัดแสดงให้ผู้ชมได้สนุกไปกับการเรียนรู้ประเด็นใหม่ๆ นำเรื่องราวที่ได้เปิดประเด็นไว้มาขยายความต่อในมุมมองใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์เป็นนิทรรศการชั่วคราวให้สังคมได้ร่วมกันขบคิด ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ และสนับสนุนให้ผู้มีวิชาชีพด้านการสร้างสรรค์นิทรรศการได้ตื่นตัว และมีความคิดทันสมัยกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แนวใหม่

3.              อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์  จะเป็นพื้นที่การสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น คลังความรู้  ห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องกิจกรรมสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมผลงานวิจัยต่างๆมาไว้ในที่เดียวกัน พร้อมกับจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง
  

สัญลักษณ์ของมิวเซียมสยาม

                                                                                     คนกบแดง 


              รูปคนทำท่าเป็นกบเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เพราะกบถือเป็น สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่เคารพบูชาทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากลวดลาย บนกลองมโหระทึกที่เป็นเครื่องมือใช้ประโคมตีในพิธีกรรมขอฝน
 












 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น